ประวัติ มอเตอร์ไซค์ คุรุสภา
ถ้าจะถามว่า "คุรุสภา" คืออะไร ก็อาจจะได้คำตอบที่ชวนงงอยู่ไม่น้อย เพราะคุรุสภาไม่ใช่หน่วยราชการ ไม่ใช่ธุรกิจเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ที่ระบุได้คือ คุรุสภาเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติครู 2488
หน้าที่โดยหลักของคุรุสภาคือให้คำปรึกษาและความคิดเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนโยบายการศึกษาทั่วไป ส่งเสริมฐานะของครูในทางความรู้ ความประพฤติความเป็นอยู่ของครู และรักษาประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครูให้มั่นคง
ที่น่าสนใจคือ ครูทุกคนไม่ว่าในภาครัฐบาล ภาคเอกชน ขึ้นชื่อว่าครูแล้ว ต้องเป็นสมาชิกคุรุสภา ต้องเสียค่าบำรุงคนละ 50 บาทต่อปีหรือคนละ 500 บาทตลอดชีพ
จำนวนสมาชิกคุรุสภาเท่าที่สำรวจล่าสุดประเมินว่าราวๆ 790,000 คน แม้ว่าในตัวเลขเกือบ 8 แสนคนนี้จะไม่ใช่ครูเสียทั้งหมดเพราะมีสมาชิกสมทบ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับวิชาชีพครูอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าข้าราชการครูเป็นกลุ่มข้าราชการกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือประมาณครึ่งหนึ่งของข้าราชการทั้งประเทศ
ภาระหน้าที่ของคุรุสภาจึงดูยิ่งใหญ่เหลือคณาเอาเสียจริงๆ
หน้าที่ประการหนึ่งที่คุรุสภาจัดทำต่อเนื่องมาและได้รับความสนใจจากครูอย่างดียิ่ง เห็นจะได้แก่ การจัดสวัสดิการครูนอกเหนือจากเงินเดือนและสวัสดิการที่รัฐให้แก่ครูเป็นปกติอยู่แล้ว บริการด้านนี้ของคุรุสภามีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น ร้านค้าในเครือเพื่อบริการสมาชิกคุรุสภา ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 100 แห่ง, การจัดสวัสดิการเคหะสงเคราะห์ หรือโครงการจัดสรรบ้านพร้อมที่ดินนั่นเอง, โครงการบัวหลวงเพื่อครูเพื่อซื้อและปลูกบ้าน, การช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัวของสมาชิกที่ถึงแก่กรรม, สถานพยาบาลของคุรุสภา, หอพักคุรุสภา, โครงการสินค้าสวัสดิการเพื่อสมาชิก เป็นต้น
โดยเฉพาะโครงการสินค้าสวัสดิการเพื่อสมาชิกนี่เองที่จัดทำมาหลายโครงการแล้ว ขายสินค้าสารพัดชนิด ตั้งแต่ จักรเย็บผ้า, เครื่องออกกำลังกาย, เครื่องกรองน้ำ, เครื่องดนตรี, รถจักรยาน 2 ล้อ, เครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว เป็นต้น
โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2526 เมื่อคุรุสภาต้องการช่วยเหลือครูที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างโรงเรียนกับที่พัก โดยเฉพาะครูในท้องถิ่นทุรกันดาร คุรุสภาจึงจะจัดหามอเตอร์ไซค์ให้ครูซื้อในราคาถูกกว่าท้องตลาด หรือถ้าผ่อนก็ต้องผ่อนถูกกว่าที่อื่นๆ
คุรุสภาโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมสวัสดิการของคุรุสภาได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทผู้ประกอบและจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ทุกเจ้า แต่ก็ได้รับคำตอบมาเพียงรายเดียวคือบริษัทสยามยามาฮ่า จำกัด
เข้าใจว่าตอนนั้นบริษัทผู้จำหน่ายมอเตอร์ไซค์อื่นๆ ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ช่วงนั้นเราได้รับความช่วยเหลือมากจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ที่เข้าใจและเห็นใจเรื่องความเดือดร้อนของครู
สยามยามาฮ่าให้ความร่วมมือโดยขายมอเตอร์ไซค์รุ่น Y 80 MATE ให้ครูผ่านคุรุสภาในราคาเพียง 14,800 บาท ในขณะที่ราคาท้องตลาดยืนอยู่ที่ 18,000 บาท
จำนวนรถที่คุรุสภาตั้งเป้าไว้คือ 5,000 คัน จำนวนรถที่มากเช่นนี้ทำให้ราคารถต่ำกว่าราคาท้องตลาด อีกทั้งเป็นราคาที่ตั้งโดยผู้ผลิตโดยตรง ส่วนเรื่องเงินเชื่อที่จะให้ทางครูผ่อนชำระนั้น ทางคุรุสภาได้ขอความช่วยเหลือไปยังสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งแต่ก็มาลงเอยที่ธนาคารทหารไทย ซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดคือ 16.5% ไม่มีเงินดาวน์ ให้ผ่อนชำระเดือนละ 790 บาท เป็นเวลา 24 เดือน รวมเงินผ่อนทั้งหมด 18,960 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ทางธนาคารทหารไทยยังได้กำหนดให้ผู้กู้ซื้อรถต้องทำประกันด้วย คุรุสภาก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด โดยคิดเบี้ยประกันเพียงรายละ 200 บาท ให้ความคุ้มครองชีวิตเป็นเวลา 24 เดือน หรือตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระนั่นเอง ด้วยข้อเสนอและเงื่อนไขที่ค่อนข้างดีมากๆ เช่นนี้ จากจำนวนรถที่ตั้งเป้าไว้เพียง 5,000 คัน ยอดสั่งจองกลับพุ่งไปที่ 30,000 คัน
ซึ่งเป็นเรื่องคาดไม่ถึงว่าจำนวนความต้องการของครูจะมากมายถึงขนาดนี้ เพราะทางคุรุสภาเพิ่งจัดทำเพียงโครงการแรก ที่ได้ตกลงกับทางสยามยามาฮ่าคือ 5,000 คันเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องรอไปโครงการต่อไป
จนถึงโครงการที่ 2 ดำเนินไปเช่นโครงการแรก บริษัทและธนาคารยังเป็นเจ้าเดิม เนื่องจากเสนอเงื่อนไขเป็นที่พอใจแก่คุรุสภา มีเพียงตัวเลขเท่านั้นที่แปรเปลี่ยนตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น ราคารถที่ขึ้นไป ทำให้ธนาคารทหารไทยต้องตั้งวงเงินกู้เพิ่มเป็น 17,500 บาท กำหนดผ่อนชำระ 865 บาท 24 งวด ในอัตราดอกเบี้ย 16.5%
โครงการที่ 2 ตั้งเป้าไว้ 8,000 คัน แต่เอาเข้าจริง ทางสยามยามาฮ่าก็ต้องเอื้อเฟื้อให้คุรุสภาไปถึง 10,000 คัน
โครงการที่ 3 ก็ยังเหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง แต่ตัวเลขจำนวนรถที่ขายผ่านคุรุสภาลดไปที่ 8,000 คัน
แล้วก็มาถึงโครงการที่ 4 ในปี 2531 เมื่อ เอ.พี.ฮอนด้าเข้าเสนอเงื่อนไขแก่คุรุสภาด้วยหลังจากที่สยามยามาฮ่ากวาดไปแล้ว 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 23,000 คัน
เอ.พี.ฮอนด้าได้รับการคัดเลือกจากคุรุสภาให้เป็นผู้จำหน่ายรถผ่านคุรุสภาในโครงการที่ 4 นี่เอง
ในโครงการที่ 4 เอ.พี.ฮอนด้าเสนอฮอนด้า ดรีม 100 ในราคา 20,950 บาท สำหรับธนาคารก็เปลี่ยนจากธนาคารทหารไทยมาเป็นกสิกรไทย ซึ่งให้เงื่อนไขดีมากๆ คือ วงเงินกู้ 22,000 บาท ไม่มีเงินดาวน์ ผ่อนชำระ 36 งวดๆ ละ 720 บาทในอัตราดอกเบี้ย 11%
วงเงินกู้ที่เพิ่มมานั้นคือค่าดำเนินการด้านต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จริงของคุรุสภา ซึ่งทั้งหมดคุรุสภายืนยันว่า ไม่ได้กำไรอะไรทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวประกอบด้วย ค่าดำเนินการส่วนกลาง 50 บาท, ค่าดำเนินการของจังหวัด 50 บาท, ค่าหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย 50 บาท, ค่าประกันชีวิต 230 บาท, ค่าจดทะเบียนยานพาหนะ 360 บาท ซึ่งรวมแล้วครูจะต้องจ่ายเพื่อซื้อรถในราคาเงินสดทั้งสิ้น 21,690 บาท ส่วนเงินผ่อนที่ครูต้องผ่อนกับกสิกรไทย รวมแล้วคือ 25,920 บาท
ขณะที่ราคาฮอนด้าดรีมในท้องตลาดคือ 27,000 ถึง 28,000 บาท ราคาเงินผ่อนคือดาวน์ 5,000 บาท ผ่อน 24 งวดๆ ละ 1,435 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 39,440 บาท
เห็นตัวเลขต่างกันขนาดนี้ ใครเล่าจะไม่สนใจโครงการของคุรุสภา
และคุรุสภาเองคงคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำสำหรับยอดตัวเลขครูที่สั่งจองมอเตอร์ไซค์ซึ่งมากมายมหาศาลเช่นนี้ และตัวเอ.พี. ฮอนด้าที่ขายรถให้คุรุสภาก็คงยิ้มแก้มแทบปริเมื่อยอดขายโดยรวมทั้งหมด ฮอนด้าพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1….อะไรๆ มันก็ดูดีไปหมด ดีเสียจนมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกเป็นทิวแถว
ความต้องการของครูที่ทั้งคุรุสภาและเอ.พี.ฮอนด้าประเมินว่า น่าจะตกราวๆ 10,000 คัน แต่เมื่อสรุปโครงการแล้ว ตัวเลขมอเตอร์ไซค์ที่ขายผ่านคุรุสภาหยุดที่ 49,836 คัน
ถ้ามองจากตัวเลขจำนวนรถที่ขายผ่านคุรุสภาพอจะสรุปได้ว่า ทั้ง 4 โครงการที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมากทีเดียว เพราะหนึ่ง-ครูได้รถ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ สอง-ครูได้ซื้อรถในราคาถูกมากและยังได้ผ่อนแบบสบายๆ สาม-รถที่ครูได้รับจัดได้ว่าเป็นสินค้าดี
อย่างเช่นรุ่นดรีมที่ฮอนด้าเขาเอามาขายจัดได้ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมากทีเดียว ช่วงหนึ่งเคยมีคนวางเงินดาวน์รถรุ่นนี้แล้วก็เผ่นไปเลย เอาไปแยกชิ้นส่วนแล้วลักลอบไปขายที่เขมร ที่โน่นนิยมมากเพราะประหยัดน้ำมัน
คุรุสภายืนยันหนักแน่นว่า คุรุสภาไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ใช่พ่อค้า และไม่ใช่นายหน้า โครงการทั้งหมดทำตามนโยบายของคุรุสภาที่ต้องจัดสวัสดิการและยกระดับความเป็นอยู่ของครูให้สะดวกสบายขึ้น ค่าดำเนินการทั้งหมดที่คุรุสภาบวกเข้าไปในการสั่งซื้อของครูก็เป็นค่าใช้จ่ายจริงที่ไม่ได้พึ่งงบประมาณของคุรุสภาเลย
เอ.พี.ฮอนด้าผู้ป้อนรถให้กับคุรุสภาเกือบ 5 หมื่นคันในช่วง 1 ปีนั้น ความลำบากของเอ.พี.ฮอนด้าอยู่ที่กำลังการผลิตที่ผลิตได้เดือนละ 15,000 ค้น แต่ต้องป้อนดีลเลอร์ทั่วประเทศ และผลิตหลายรุ่นหลายแบบ ไม่ใช่รุ่นดรีมเท่านั้น อีกทั้งตลาดทั้งปี 2531 มีการปรับราคารถไปถึง 3 ครั้ง แต่กับคุรุสภา เอ.พี.ฮอนด้ายืนราคาที่เสนอไว้แต่แรกมาตลอด
แต่ยอดขายเกือบ 50,000 คันที่เอ.พี.ฮอนด้าขายให้คุรุสภา เป็นตัวเลขที่สวยงามมาก เพราะตัวเลขตรงนี้มากพอที่จะทำให้ฮอนด้าก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในยุทธจักรค้ามอเตอร์ไซค์เลยทีเดียว จำนวนรถ 49,836 คัน คูณกับราคารถคันละ 20,950 บาท เท่ากับ 1,044,064,200 บาท หรือพันกว่าล้านคือยอดเงินที่เอ.พี.ฮอนด้าได้รับ
ถ้าสมมติว่าสิ้นปีนี้ ยอดขายฮอนด้าคือ 120,000 คัน จำนวนรถที่เอ.พี.ฮอนด้าส่งมอบให้คุรุสภาเฉพาะในปี 2531 ตีเสียว่า 40,000 คันต่อ 120,000 คัน เท่ากับ 1/3 ของยอดขายทั้งปีของเอ.พี.ฮอนด้า แม้ว่าทางเอ.พี.ฮอนด้าจะกล่าวว่ายอดขายผ่านคุรุสภาจะเป็นเพียงตัวเลขบวก เป็นตลาดที่เพิ่มขึ้นมาเพียงชั่วคราวและฮอนด้าก็มีลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มอื่นๆ เหมือนกัน แต่สำหรับปีนี้ ปี 2531 ตัวเลขทั้งหมดก็คือความสำเร็จของฮอนด้าที่ทำเอาค่ายอื่นค้อนได้เหมือนกันในตอนนั้น
เกือบจะเป็นที่ยอมรับไปแล้วว่า รถเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับชีวิต แม้จะไม่ได้รถเก๋ง ได้รถมอเตอร์ไซค์ไว้ก่อนก็ยังดี ทั้งราคาก็ถูกกว่าตามดีลเลอร์ตั้งมากมาย ใครจะอดใจไหวแถมเมื่อกสิกรไทยยืดเวลาการผ่อนชำระออกไปอีก แทนที่จะเป็น 24 เดือนดัง 3 โครงการแรกเป็น 36 เดือน ความต้องการซื้อก็เพิ่มขึ้น
และผลพลอยได้ที่เอ.พี.ฮอนด้าได้รับก็คือ ฐานะของครูเป็นที่ยอมรับมากในหมู่ชาวบ้านต่างจังหวัด เมื่อครูใช้สินค้าตัวใด ยี่ห้อใด ก็ย่อมได้รับความสนใจและยอมรับไปด้วย กลายเป็นงานประชาสัมพันธ์ที่เอ.พี.ฮอนด้าบอกว่า "ได้ผลค่อนข้างมาก" เรียกได้ว่า งานนี้เอ.พี.ฮอนด้าขายรถได้แล้ว ยังได้ผลข้างเคียงที่เสริมภาพพจน์ได้อย่างวิเศษอีกด้วย
ข้อมูลทั้งหมดผมได้จากน้าเดียว ไบค์ฮีโร่ ผู้ชายใจดี ขอบคุณน้าสำหรับข้อมูลดีๆครับ
Thank!
ตอบลบ